รู้หรือไม่ว่าในการก่อสร้างอาคาร/สำนักงานนั้น ผู้ประกอบการที่ได้ก่อสร้างอาคาร/สำนักงาน เพื่อใช้ในกิจการไม่ว่าจะลงมือก่อสร้างเองหรือว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างก็ตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้างหรือจากการใช้บริการจากผู้รับจ้างก่อสร้างมักจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ โดยนั่นคือภาษีซื้อ
ความหมายของภาษีซื้อ
ภาษีซื้อเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นที่ขายสินค้าหรือให้บริการ หรือจากการนำเข้า
ภาษีซื้อเกิดขึ้นจากอะไร
ซึ่งภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคาร/สำนักงานที่ใช้ในกิจการของผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ไม่ว่าจะเป็นจากการก่อสร้างหรือจากการใช้บริการก่อสร้าง ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อหรือนำมาหักออกจากภาษีขายได้ นอกเสียจากเป็นข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ซึ่งว่าด้วยภาษีซื้อนั้นมีลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการนั้นไม่สามารถนำมาใช้ขอคืนภาษีซื้อหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้
ตัวอย่างที่ไม่สามารถจะนำมาใช้ในการขอคืนภาษีซื้อ
โดยตัวอย่างที่ไม่สามารถจะนำมาใช้ในการขอคืนภาษีซื้อหรือนำไปหักจากภาษีขายได้ตามกฎหมาย เช่น ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบกำกับภาษีที่มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ใบกำกับภาษีปลอม เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ภาษีซื้อต้องห้ามบางประเภทนั้น ผู้ประกอบการอาจจะสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกันนั้นภาษีซื้อต้องห้ามบางประเภทไม่สามารถที่จะนำไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ตามกฎหมาย นั่นเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงต้องพึงระมัดระวังการนำภาษีซื้อมาใช้อยู่ตลอดเวลา เพื่อมิให้ต้องเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับ หากการนำมาใช้นั้นไม่เป็นไปตามรูปแบบการขอคืนภาษีซื้อหรือนำไปหักจากภาษีขายตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
ภาษีซื้อไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งหากการใช้ภาษีซื้อนั้นไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมียื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมเสียภาษีตามมูลค่าภาษีซื้อที่นำไปใช้ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการควรตรวจสอบดูว่าภาษีซื้อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภาษีซื้อของกิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้จะใช้ในกรณีภาษีซื้อที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการ สำหรับเจ้าของอาคารที่ก่อสร้างอาคาร/สำนักงาน หากไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างหอพัก หรือ อพาร์ตเมนต์ให้เช่าเป็นต้น จะไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้ แต่ผู้ประกอบการสามารถนำไปเป็นต้นทุนหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ มีผู้ประกอบการหอพัก บ้านพักให้เช่า หรืออพาร์ตเมนต์จำนวนมากที่ได้ประกอบกิจการอื่น ๆ และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ได้นำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร/สำนักงานไปขอคืนภาษีซื้อหรือนำมาหักออกจากภาษีขาย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้อาคาร/สำนักงานประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการไม่ได้อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มในที่เดียวกัน หรือนำอาคาร/สำนักงานที่ใช้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นที่อยู่อาศัยด้วย(Home Office) ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคาร/สำนักงานจะต้องนำมาเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 29
โดยได้มีการกำหนดว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ก่อสร้างอาคาร/สำนักงานที่ใช้ในกิจการบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ขอคืนภาษีซื้อไปเรียบร้อยแล้ว ภายหลังได้นำอาคาร/สำนักงานนั้นไปขาย ให้เช่า หรือนำไปใช้ในกิจการที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างที่ได้ขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขายไปแล้วจะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) เพิ่มเติมชำระภาษีตามมูลค่าภาษีซื้อที่นำไปใช้ พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีซื้อที่ใช้ไป และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ชำระ
สรุปได้ว่าภาษีซื้อการก่อสร้างอาคาร/สำนักงาน ถ้าอาคาร/สำนักงานนั้นนำไปใช้ในกิจการบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ภาษีซื้อการก่อสร้างที่ได้ขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขายก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เว้นแต่จะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ถ้าอาคาร/สำนักงานที่ก่อสร้างนั้น นำไปใช้ในกิจการที่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่มิได้อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีการเฉลี่ยภาษีซื้อตามที่กฎหมายกำหนด